Electronics Sector – ปี 2545

 

Flight to Hope

     Neutral

 

 

ปี 2544 เป็นช่วงที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของโลกได้เผชิญกับช่วงธุรกิจขาลง ผลการดำเนินงานของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลกหลายแห่งประสบผลขาดทุนในขณะที่บริษัทบางแห่งต้องหยุดดำเนินกิจการเนื่องจากปริมาณความต้องการของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทล้วนแล้วแต่ปรับตัวลดลง ยอดขายคอมพิวเตอร์ทั่วโลกมีอัตราการขยายตัวลดลงเป็นครั้งแรกเนื่องจากปริมาณความต้องการที่ลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกา ความต้องการอุปกรณ์ในกลุ่มโทรคมนาคม เช่น เครื่องโทรศัพท์มือถือ มียอดขายลดลงเมื่อเปรียบเทียบไตรมาสต่อไตรมาส และเมื่อปริมาณความต้องการของเครื่องมือสื่อสารแบบไร้สายลดลงส่งผลให้ปริมาณการผลิตและความต้องการชิ้นส่วนทั้งประเภทเซมิคอนดักเตอร์ และ แผ่นพิมพ์วงจรไฟฟ้า (PCBs) ลดลงตามไปด้วย

คาดว่าการฟื้นตัวที่มาจากความต้องการแท้จริงจะต้องใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 3-6 เดือน จะมีความชัดเจน ดังนั้นผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จะอยู่ในระดับทรงตัวในไตรมาส 4/44 และ ไตรมาส 1/45 และจะมีอัตราการขยายตัวเป็นบวกในช่วงไตรมาส 2-3 ของปี 2545 และสำหรับแนวโน้มของกลุ่มธุรกิจแต่ละประเภทในปี 2545 สามารถสรุปได้ดังนี้

ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์

Semiconductor Association Industry ได้คาดการณ์ว่ายอดขายเซมิคอนดักเตอร์ในปี 2545 จะมีอัตราการขยายตัวประมาณ 6.3% เมื่อเทียบกับปี 2544 ด้วยมูลค่าตลาดรวม 149,546 ล้านเหรียญสหรัฐ การฟื้นตัวของกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์เริ่มส่งสัญญาณในทางบวกในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนติดต่อกัน โดยยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน เมื่อเปรียบเทียบแบบเดือนต่อเดือน (Sequential Basis) ด้วยมูลค่าตลาด 10,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% จากเดือนตุลาคม อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2543 ยอดขายยังคงปรับตัวลดลง 42% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย Cคาดว่ากลุ่มเซมิคอนดักจะเป็นกลุ่มที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนก่อนกลุ่มอื่น โดยหุ้นที่มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับกลุ่มนี้ได้แก่ HANA และ CIRKIT ทั้งนี้เนื่องจากนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมประเมินว่ากลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วหลังจากที่ยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกในเดือนตุลาคม 2544 ได้กลับมียอดขายเป็นบวกอีกเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของยอดขายเพียง 2 เดือนติดต่อกันอาจจะยังไม่บ่งบอกถึงการกลับเป็นช่วงขาขึ้นของอุตสาหกรรมที่แท้จริงได้ ในขณะที่ราคาหุ้นของ HANA และ CIRKIT ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดซึ่งเป็นผลสะท้อนถึงความคาดหวังของผลประกอบการในอนาคตที่เกิดขึ้นรวดเร็วกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริง สำหรับผลประกอบการของ HANA และ CIRKIT ในปี 2545 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอัตราการขยายตัวจะปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจนในช่วงปลายไตรมาส 2/45 จนถึงช่วงครึ่งปีหลังมากกว่าในช่วงครึ่งปีแรก

 คาดว่ายอดขายของ HANA จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 12% เป็น 175 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์เป็นหลัก โดย CNS คาดว่ายอดขายในกลุ่มนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 25% YOY ในขณะที่กลุ่มไมโครอิเล็กทรอนิกส์จะอยู่ในระดับทรงตัวโดยคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% YoY คาดว่า HANA จะมีกำไรสุทธิ 1,147 ล้านบาท หรือ 7.5 บาท/หุ้น ส่วน CIRKIT การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ HANA แต่ปัจจัยพื้นฐานของ CIRKIT จะเป็นรองถึงแม้ว่ายอดขายในแต่ละปีจะอยู่ในระดับเท่าเทียมกัน ทั้งนี้เนื่องจากผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของ CIRKIT จะมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ต่ำ นอกจากนี้ CIRKIT ยังมีภาระเงินกู้ยืมสูงทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยในขณะที่ HANA อยู่ในฐานะปลอดหนี้ คาดว่าในปี 2545 CIRKIT จะมียอดขาย 85 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีกำไรสุทธิ 140 ล้านบาท หรือ 2.9 บาท/หุ้น

 

ธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

International Data Corporation ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทั่วโลก ได้ประมาณการว่ายอดขายคอมพิวเตอร์ของโลกในปี 2545 จะมีจำนวน 139 ล้านเครื่อง ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2544 ประมาณ 6.9% เป็นผลจากผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังคงใช้กลยุทธ์ปรับลดราคาประกอบกับความนิยมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ

                 

 

 

 

 

สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงซึ่งเผชิญกับจุดต่ำสุดที่ทำให้ยอดขายรวมทั่วโลกปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาทรุดตัว สำหรับบริษัทซึ่งมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับกลุ่มคอมพิวเตอร์ ได้แก่ DELTA ซึ่งเป็นผู้ผลิตจอภาพคอมพิวเตอร์รายใหญ่ของประเทศ อย่างไรก็ตามในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา DELTA พยายามลดสัดส่วนการขายจอภาพคอมพิวเตอร์ลง เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในระดับที่ต่ำ และหันมาผลิตสินค้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงเพิ่มขึ้น และสำหรับในปี 2545 DELTA มีกลยุทธ์ที่จะเริ่มผลิตจอภาพคอมพิวเตอร์แบบ LCD และลดปริมาณการผลิต SPS ลง เนื่องจากปริมาณความต้องการของ SPS ที่ใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะลดลง CNS จึงคาดว่ายอดขายของ DELTA จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 820 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นมีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 17.1% ซึ่งเป็นผลจากการผลิตจอภาพ LCD มี Gross Margin อยู่ที่ระดับ 8-10% ดังนั้น DELTA จึงมีกำไรสุทธิ 3,037 ล้านบาท คิดเป็นกำไร 2.9 บาท/หุ้น นอกจาก DELTA แล้ว KRP ยังเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับธุรกิจคอมพิวเตอร์ โดย KRP เป็นผู้ผลิตแขนจับหัวอ่านสำหรับฮาร์ดดิสต์คอมพิวเตอร์ การฟื้นตัวของธุรกิจคอมพิวเตอร์ในปี 2545 จะส่งผลบวกต่อ KRP มากกว่าเนื่องจากผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ KRP ผูกติดกับปริมาณการขายคอมพิวเตอร์ทั่วโลก จากการประมาณการของ คาดว่ายอดขายของ KRP จะเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 78 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังคงกังวลมากในประเด็นเกี่ยวกับความผันผวนของต้นทุนขายซึ่งขึ้นอยู่กับการบันทึกค่าใช้จ่ายเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนาแขนจับหัวอ่านรุ่นใหม่ 

ธุรกิจการแผ่นพิมพ์วงจรไฟฟ้า

แผ่นพิมพ์วงจรไฟฟ้า หรือ PCBs มีความสัมพันธ์กับโดยตรงกับปริมาณการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทเนื่องจาก PCB จะถูกใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตเพื่อเชื่อมวงจรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆเข้าด้วยกัน ดังนั้นในปี 2544 ปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือ ผลิตภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือนที่ปรับตัวลดลง มีผลทำให้ปริมาณความต้องการ PCB ทั่วโลกปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยอัตราส่วน Book-to-Bill ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่แสดงความสัมพันธ์ของปริมาณการสั่งซื้อ PCB จากผู้ผลิตสินค้า และปริมาณการจัดส่ง PCB จากผู้ผลิต PCB ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1 เท่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2544 อย่างไรก็ดีอัตราส่วน Book-to-Bill ได้เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นบ้างแล้ว โดยในเดือนพฤศจิกายน ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.87 เท่า สำหรับในปี 2545 จากการประเมินภาวะธุรกิจหลังจากที่ระดับสินค้าคงเหลือลดลงแล้ว อัตรากำลังการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ปริมาณความต้องการ PCB เพิ่มขึ้น จากการประมาณการของ IPC คาดมูลค่าตลาด PCB ทั่วโลกในปี 2545 จะมีอัตราการขยายตัว 7.1% เป็น 43,282 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

 

 

 

 

 
สำหรับบริษัทที่มีการผลิต PCBs ได้แก่ KCE โดย คาดว่าในปี 2545 ยอดขายของ KCE จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 95 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย KCE จะเพิ่มปริมาณการผลิตให้กับกลุ่มคอมพิวเตอร์มากขึ้นเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีปริมาณความต้องการสูงทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากโรงงานแห่งใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างรายได้โดยเพิ่มสัดส่วนของกลุ่มคอมพิวเตอร์มากขึ้นนั้นจะสร้างความกดดันต่ออัตรากำไรขั้นต้นของ KCE ให้ปรับตัวลดลง โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 20% คาดว่า KCE จะมีกำไรสุทธิ 182 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 6.1 บาท/หุ้น สำหรับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น KCE นั้น คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่ปริมาณการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ เช่น ยอดขายเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้นแสดงให้ห็นว่าปริมาณความต้องการของ Monther Boards เพิ่มมากขึ้น และ โทรศัพท์มือถือ แสดงให้เห็นว่าปริมาณความต้องการ Multilayer PCBs เริ่มขยายตัวในทิศทางเดียวกัน  

                  ธุรกิจการรับจ้างผลิต

การรับจ้างการผลิต หรือ Electronic Manufacturing Services (EMS) เป็นธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการปรับกลยุทธ์ของผู้ผลิตที่มานิยมการว่าจ้างให้บริษัทเหล่านี้ผลิตสินค้าสำเร็จรูปให้แทนการผลิตเอง ทำให้ธุรกิจดังกล่าวเป็นเพียงธุรกิจเดียวที่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่องในปี 2544 และสำหรับในปี 2545 จากการประมาณการของ IDC คาดว่ามูลค่าตลาดของธุรกิจการว่าจ้าง/รับจ้างผลิต จะมีมูลค่าตลาด 135,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 26% YoY

บริษัทที่มีลักษณะในการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง 2 บริษัท คือ CCET และ SVI หากสังเกตุในปี 2544 ที่ผ่านมา จะเห็นว่าผลประกอบการของทั้ง 2 บริษัทสวนทางกับบริษัทอื่นๆในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้เนื่องจากปี 2544 เป็นช่วงที่อุตสาหกรรมการว่าจ้างผลิตเป็นที่นิยมของบรรดาผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างมาก อย่างไรก็ตามการขยายตัวของยอดขายของ CCET และ SVI ขึ้นอยู่กับลูกค้าเดิมซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่มีการเพิ่มปริมาณคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ประกอบกับการเพิ่มลูกค้ารายใหม่ที่มีลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกับผลิตภัณฑ์เดิม ทำให้บริษัทไม่จำเป็นต้องลงทุนในเครื่องจักรเพิ่มมากและลดระยะเวลาในการผลิตสินค้าสู่ตลาดได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งทั้ง CCET และ SVI ยังไม่มีการเพิ่มจำนวนของลูกค้ารายใหม่ที่มีมูลค่าการสั่งซื้อสูงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2545 ดังนั้นภาพของอัตราการขยายตัวของทั้ง 2 บริษัทจะต่ำกว่าบริษัทในกลุ่มเนื่องจากฐานของรายได้ในปี 2544 อยู่ในระดับที่สูง หากพิจารณาแยกเป็นรายตัว CNS เห็นว่า CCET จะมีความโดดเด่นมากกว่า SVI ในแง่ของกำลังการผลิตซึ่งมีโรงงานถึง 5 แห่ง ทำให้บริษัทสามารถรองรับคำสั่งซื้อได้ครั้งละมากๆ ความหลากหลายในการผลิตสินค้ารวมถึงบริษัทมีโครงการผลิตสินค้าที่อยู่ระหว่างการทดลองและคาดว่าจะเริ่มผลิตอย่างจริงจังปี 2545 อีกหลายโครงการ คาดว่า CCET จะมียอดขายประมาณ 660 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยผลิตภัณฑ์หลักที่สร้างรายได้ให้กับ CCET ยังคงเป็นเครื่องพิมพ์เอกสาร หรือ Inkjet Printer ซึ่งผลิตให้กับ Hewlett Packard โดยคิดเป็นสัดส่วน 55% ของรายได้รวม ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ เช่น โทรศัพท์ไร้สายแบบ CDMA/TDMA จอภาพคอมพิวเตอร์ LCD และผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโทรคมนาคมจะคิดเป็นสัดส่วน 45% ของยอดขาย

กลยุทธ์การลงทุนและคำแนะนำ

ในช่วงปี 2544 นับเป็นปีที่ตกต่ำที่สุดช่วงหนึ่ง สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ดัชนีราคาหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดที่ 437 จุด ลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2543 ที่ 1,334 จุด สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อทิศทางของธุรกิจที่ตกต่ำลงอย่างมาก อัตราส่วน PER ของกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่ำสุดที่ 4.0 เท่า และมีค่าเฉลี่ย PER เท่ากับ 5.5 เท่า

สำหรับในปี 2545 นี้ แนวโน้มของอุตสาหกรรมจะเริ่มเป็นทิศทางบวกมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวจะเป็นลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าจะเป็นการพลิกกลับตัวโดยทันที ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงได้ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนของกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มจาก “Underweight” ขึ้นเป็นระดับ “Neutral” ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2544 สำหรับคำแนะนำการลงทุน จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยในกลุ่ม 1st Tier แนะนำ “ซื้อ” HANA, DELTA และ KCE โดยหุ้นที่ CNS คาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกก่อนจะเป็น HANA ทั้งนี้เนื่องจากการประกาศข่าวการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมโดยยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 เดือนติดต่อกัน  สำหรับ DELTA นั้น ยังคงเห็นว่าเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดีที่สุดในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่ระดับราคาจะมีลักษณะค่อยๆปรับตัวเพิ่มขึ้นตามจุดเปลี่ยนของวงจรธุรกิจ ส่วน KCE จะเป็นหุ้นตัวสุดท้ายในกลุ่ม 1st Tier ที่จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งนี้เนื่องจากดัชนีที่บ่งชี้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมซึ่งถึงแม้ว่าจะเริ่มส่อเค้าดีขึ้นแต่ยังคงไม่ชัดเจนมากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ และสำหรับในกลุ่ม 2nd Tier ซึ่งได้แก่ CIRKIT, KRP และ SVI นั้น การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้จะเป็นลักษณะการ Trading Buy เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานเป็นรองเมื่อเทียบกับกลุ่มแรก แต่เนื่องจากราคาหุ้นในกลุ่มนี้อยู่ในระดับค่อนค้างต่ำจึงคาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายย่อยมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อระดับราคาของหุ้นในกลุ่ม 1st Tier ปรับตัวเพิ่มขึ้น      

สำหรับการประเมินมูลค่าของหุ้นในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อิงกับค่าเฉลี่ยของอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรต่อหุ้น (P/E Ratio) ของหุ้นแต่ละตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่าน ดังนั้นมูลค่าตามปัจจัยพื้นฐานของแต่ละบริษัทมีรายละเอียด ดังนี้

 

 

กำไรสุทธิ

(ล้านบาท)

กำไรต่อหุ้น

(บาท)

P/E Ratio เฉลี่ย*

(เท่า)

มูลค่า

(บาท/หุ้น)

คำแนะนำ

การลงทุน

HANA

1,147.75**

7.5

11.5

85.70

ซื้อลงทุน

DELTA

3,036.90

2.9

11.0

32.00

ซื้อลงทุน

KCE

181.84

6.1

9.0

54.50

ซื้อลงทุน

CCET

1,631.40

5.4

6.0

32.40

ซื้อลงทุน

CIRKIT

140.25

2.9

5.0

14.25

ซื้อเก็งกำไร

KRP

78.25

0.2

16.0

3.50

ซื้อเก็งกำไร

SVI

266.80

1.7

5.0

8.60

ซื้อเก็งกำไร

* ค่าเฉลี่ย P/E Ratio ในช่วง 5 ปี (2539 – 2544) ยกเว้น CCET

** ไม่รวมส่วนแบ่งผลกำไร/ขาดทุนจาก AIT